วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เทคนิคการถ่ายภาพ

10 เทคนิคการถ่ายภาพท่องเที่ยวจากมือถือให้สวยงามอย่างมือโปร

1. หันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์และปรับโหมดเป็น HDR
   สมัยนี้กล้องมือถือจะพยายามใส่ฟังชั่น HDR (High Dynamic Range) เข้ามา ซึ่ง HDR นี้ก็คือการถ่ายโดยเก็บรายละเอียดในภาพทั้งส่วนมืดและสว่างให้มีรายละเอียดครบถ้วน ฉะนั้นหากถ่ายภาพในโหมดนี้แล้ว เราก็จะแก้ปัญหาหน้ามืดเมื่อหันกล้องเข้าหาดวงอาทิตย์ได้ระดับหนึ่งทีเดียว  แต่ถ้าจะให้ได้ผลดีที่สุด ให้รอช่วงที่พระอาทิตย์กำลังจะตก ช่วงนั้นแสงจะไม่รุนแรงมากนัก ทำให้เราสามารถเก็บภาพที่มีรายละเอียดแสงสีที่สวยงามได้ และยิ่งวันไหนที่ท้องฟ้าเป็นใจ เราก็จะได้ภาพท้องฟ้าสวย ๆ อย่างแน่นอน


2. ถ่ายช่วงเวลาทอง
   หลาย ๆ คนพยายามจะถ่ายภาพช่วงกลางวันที่แดดจัด ๆ และเกิดความสงสัยมาตลอดว่า ทำไมภาพที่ถ่ายออกมาดูแข็ง ๆ แสงไม่สวยเลย  ดูภาพไม่มีชีวิตชีวา ให้ลองเปลี่ยนเวลาถ่ายรูปโดยไปถ่ายช่วงเวลาก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน หรือที่คนทั่ว ๆ ไปเรียกว่าตอนเย็นนั่นแหละ  ถ้าเป็นในประเทศไทยก็คือราว ๆ 5 โมงเย็น ช่วงเวลานี้ ถ้าเป็นวันที่มีแดด แสงแดดจะนุ่มเนียนตามากกว่าเวลาอื่น ๆ และเมื่อเราถ่ายรูปออกมา ภาพจะออกโทนเหลือง ๆ แดง ๆ  คอนทราสของภาพก็จะสวยงามลงตัว   เราเรียกเวลาช่วงนี้ว่า เวลาทอง Golden moment


3. ถ่ายช่วงทไวไลท์
    ทไวไลท์คืออะไร ? มันคือช่วงเวลาหลังพระอาทิตย์ตก หรือก่อนพระอาทิตย์ขึ้นซักพักนึง ถ้าเป็นในประเทศไทย ก็อยู่ที่ราว 15-20 นาทีหลังจากพระอาทิตย์ตกนั่นเอง
เคยสงสัยไหมว่าทำไมเวลาเราดูรูปของช่างภาพอาชีพหลายคน ท้องฟ้าในรูปมันเป็นสีฟ้า น้ำเงินสดใส แต่รูปของเราท้องฟ้ากลับดำมืด ทั้ง ๆ ที่เป็นกลางคืนเหมือนกัน  คำตอบคือ เพราะเขาถ่ายในช่วงทไวไลท์นี่แหละ
ในช่วงเวลาดังกล่าว สมดุลระหว่างแสงบนท้องฟ้าและแสงไฟในเมืองจะพอดี ทำให้เป็นช่วงที่ถ่ายได้สีสันสวยงามมากที่สุดของวัน ซึ่งช่วงดีที่สุดของทไวไลท์นั้นก็ขึ้นอยู่กับความสว่างของเมืองนั้น ๆ ด้วย
ฉะนั้นถ้าอยากถ่ายไฟเมืองแบบสวย ๆ ลองรอหลังพระอาทิตย์ตกดู พอเมืองเริ่มเปิดไฟก็ลองถ่ายดูเลย รับรองว่าได้ภาพน่าประทับใจแน่นอน โดยเฉพาะมือถือรุ่นใหม่ ๆ ก็มักจะถ่ายในที่มืดได้ดีขึ้นมากด้วย เช่น GALAXY S7 Iphone6s


4. หาเนื้อหาเด่นของภาพ
    บางทีเราเห็นวิวที่สวยงามและยิ่งใหญ่ก็อยากจะเก็บภาพไปเสียทั้งหมด แต่พอถ่ายภาพออกมากลับดูไม่เหมือนที่เห็นด้วยตาเปล่า ภาพดูว่าง ๆ โล่ง ๆ ไม่น่าสนใจเอาเสียเลย
ฉะนั้นแทนที่เราจะถ่ายแบบจะเก็บทุกอย่าง เราก็เปลี่ยนมาหาจุดเด่นในภาพดีกว่า นอกจากจะทำให้ภาพดูน่าสนใจแล้ว ยังสามารถบ่งบอกสถานที่ที่เราไปเยือนได้ดีกว่าอีกด้วย  และถ้ากล้องมือถือมีปัญหาเรื่องการซูมเข้าไปหาเป้าหมาย เราก็ใช้วิธี CROP ภาพทีหลังก็ได้ เพราะกล้องเดี๋ยวนี้ความละเอียดค่อนข้างสูงมากทีเดียว เช่น GALAXY S7 ที่ Dual Pixel 12 ล้านพิกเซล หรือ IPHONE6 ที่ 12 ล้าน ถึงถ่ายมาแล้ว crop ก็ยังละเอียดพอจะลงโซเชียลเนทเวิร์คได้สบาย ๆ


5. เก็บเรื่องราว

    บางครั้งภาพที่ดูธรรมดา ๆ แต่พอมีคนมาเดินในภาพ กลับทำให้ภาพเกิดเรื่องราวขึ้นมาได้ ทั้งจาก การแต่งกาย ท่าทาง หรือสายตาของคนเหล่านั้น
ลองพยายามรวมคนหรือสัตว์เข้ามาในภาพดู และพยายามจัดให้คนหรือสัตว์นั้นเป็นจุดสนใจของภาพ จะทำให้ภาพน่าสนใจมากขึ้นเยอะเลย
น่าดีใจที่การเก็บภาพคนและสัตว์ด้วยมือถือนั้นดูเป็นมิตรมากกว่าการแบกกล้องใหญ่ ๆ เข้าไปถ่าย แต่กระนั้นก็ตาม การถ่ายภาพบุคคลแบบใกล้ชิดและดูจงใจก็ควรจะขออนุญาตแบบก่อนทุกครั้ง


6. มือต้องนิ่ง
    ปัญหาหลักเลยที่ทำให้ภาพดูไม่น่าประทับใจคือ มือเราดันไม่นิ่ง ยิ่งบางคนไม่ถนัดกับการถ่ายด้วยมือถือเอาซะเลย เพราะมันเล็กเกินไป ฉะนั้น เราต้องมาฝึกถ่ายให้มือนิ่งกัน โดยเริ่มจากลองกลั้นหายใจตอนจะกดถ่ายดูก่อน เพราะส่วนใหญ่จะนิ่งขึ้นพอสมควร หรือหากเป็นช่วงเย็นที่แสงไม่พอ ลองหาพื้นหรือผนังที่แข็งแรง แล้วเอามือถือไปพิงแล้วค่อยถ่าย จะลดอาการสั่นได้ดีทีเดียว หรือหากถึงที่สุดจริง ๆ ให้ใช้ขาตั้งเล็ก ๆ และตั้งเวลาถ่ายเอา คราวนี้ยังไงก็นิ่งแน่นอน


7. ฝึกจัดองค์ประกอบแบบง่าย ๆ
   ไม่ต้องเป็นมืออาชีพก็จัดองค์ประกอบแบบง่าย ๆ ได้ โดยใช้วิธีที่ง่ายที่สุดคือ กฎ 3 ส่วน  แบ่งภาพออกเป็นตาราง โดยใช้เส้นแนวตั้งหรือนอน 3เส้น   และพยายามจัดองค์ประกอบให้อยู่ในเส้นเหล่านี้  ซึ่งพอเราใช้ทั้งเส้นแนวนอนและตั้งตีลงไปในรูป จะเกิดจุดตัดขึ้นมา เราเรียกว่าจุดตัดเก้าช่อง  เราก็พยายามจุดสำคัญของภาพอยู่ที่จุดตัดทั้ง 4 ก็จะทำให้ภาพสวยขึ้นง่าย ๆ [แต่กฎนี้ก็ไม่ได้ตายตัวขนาดนั้น เราสามารถหาวิธีอื่น ๆ ที่ทำให้องค์ประกอบดูดีขึ้นได้อีกมากมาย แต่สำหรับผู้เริ่มต้น ยึดหลักการนี้ไว้ก็จะเป็นการง่ายมากกว่า]


8. พื้นอย่าเอียง
    เวลาที่เรามองภาพเราแล้วรู้สึกแปลก ๆ ชอบกล ให้ดูก่อนเลยเป็นอันดับแรกว่าภาพตรงหรือเปล่า เพราะคนส่วนใหญ่จะไม่สนใจกันเท่าไหร่เรื่องภาพเอียง  เวลาถ่ายออกมาก็ไม่ได้ดูตรงนี้มากนัก แต่จริง ๆ เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากต่อความรู้สึกของภาพทีเดียว ฉะนั้นพยายามถ่ายออกมาให้ภาพตรง พื้นตรง จะทำให้ภาพดูดีขึ้นมามากเลยเชียว


9. ใช้ APP
     แน่นอนถ้าใช้มือถือถ่าย การใช้ APP ก็เข้ามาช่วยได้อย่างง่ายดาย โดยการปรับหลาย ๆ อย่างที่เราว่ามาข้างต้น เช่น การจัดองค์ประกอบ  การแก้พื้นเอียง หรือปรับแสงสีเล็กน้อย ก็สามารถทำได้ใน APP นี่แหละ และเราขอแนะนำ SNAPSEED APP ที่ใช้งานง่ายและฟรี สามารถปรับแต่งได้ค่อนข้างหลากหลาย ควรเก็บไว้ประจำเครื่องเลย

10. เรียนรู้มือถือตัวเองให้หมดทุกด้าน
      นักดาบที่ดีควรจะรู้จักดาบของตัวเองทุกซอกมุม ถ้าจะถ่ายภาพด้วยมือถือเราก็ต้องรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับมัน ไม่ว่าจะความละเอียดเท่าไหร่ ถ่ายแบบไหนได้บ้าง ซูมแล้วภาพแตกไหม ถ่ายในที่มืดดีหรือเปล่า  สิ่งเหล่านี้เป็นทั้งข้อจำกัด และตัวสร้างไอเดียใหม่ ๆ ในการถ่ายภาพได้เสมอ ฉะนั้น ศึกษาอาวุธคู่กายของเราให้ดี และอย่าลืม ทำความสะอาดเลนส์บ่อย ๆ ด้วยล่ะ เพราะบางคนถ่ายภาพออกมามัวตั้งเป็นปี แล้วนึกว่าเป็นที่กล้อง แต่ที่แท้ เลนส์มีรอยนิ้วมือนี่เอง

ที่มา : https://travelkanuman.com/tips

เทคนิคการถ่ายภาพวิดีโอ

มุมกล้อง
    การถ่ายภาพในมุมที่ต่างกัน ยังมีผลต่อความคิดความรู้สึกที่จะสื่อความหมายไปยังผู้ดูได้ เราอาจแบ่งมุมกล้องได้เป็น 3 ระดับ คือ
1.ภาพระดับสายตา คือ การถ่ายภาพในตำแหน่งที่อยู่ในระดับสายตาปรกติที่เรามองเห็น ขนานกับพื้นดิน ภาพที่จะได้จะให้ความรู้สึกเป็นปรกติธรรมดา
2.ภาพมุมต่ำการถ่ายภาพในมุมต่ำ คือ การถ่ายในต่ำแหน่งที่ต่ำกว่าวัตถุ จะให้ความรู้สึกถึงความสูงใหญ่ ยิ่งใหญ่กว่าความเป็นจริง แสดงถึงความสง่า
3.การถ่ายภาพมุมสูง คือ การตั้งกล้องถ่ายในต่ำแหน่งที่สูงกว่าวัตถุ ภาพที่ได้จะให้ความรู้สึกถึงความเล็กความต้อยต่ำ ไม่มีความสำคัญ
เทคนิคการซูมและการโพกัส
1.ในขณะที่ซูมไม่ควรเดินหรือเคลื่อนไหว เพราะจะทำให้วีดีโอที่ได้มีโอกาสสั่นไหวสูง
2.หากต้องการเคลื่อนที่ด้วยขณะซูม ขอแนะนำให้ดึงซูมออกมาให้สุดก่อน แล้วค่อยกดปุ่มบันทึก จากนั้นให้เดินเข้าไปแทนการซูมเลนส์
3.อย่าสนุกกับการซูมจนมากเกินไป เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่เพิ่มเริ่มเล่นกล้องมักจะชอบดึงซูมเข้า/ออก ทำให้ภาพที่ได้น่ามึนหัว เหมือนกำลังกระแทรกกำแพงโป๊กๆที่จริงแล้วการซูมจะทำเมื่อต้องการดูราย ละเอียดของเหตุการณ์ เพื่อบ่งบอกเรื่องราว หรือซูมออกเพื่อแสดงภาพรวมของเหตุการณ์นั้นๆ พูดง่ายๆ จะซูมก็ควรมีเหตุมีผลมีเรื่องราวที่จะเล่าจากการซูมจริงๆ
4.ควรหยุดซูมเสียก่อนค่อยเคลื่อนไหวกล้อง หรือซูมก่อนบันทึกภาพ จุดนี้จะช่วยให้วีดีโอที่ได้น่าสนใจมากขึ้น เช่น การถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ในท้องทะเล อาจจะตั้งกล้องซูมเข้าไปที่เรือจากนั้นกดปุ่มบันทึก แล้วค่อยๆซูมออกมาให้เห็นท้องทะเล
การแพนกล้อง
การแพนกล้องที่ดีต้องมีจังหวะที่จะแพน คือต้องมีจุดเริ่มและจุดสิ้นสุดของการแพน จุดนี้เองคนที่อยู่เบื้องหลังคอยตัดต่อภาพทั้งหลายมันเป็นเรื่องยุ่งยากที่ จะตัดต่อภาพ โดยมีภาพทีแกว่งไปแกว่งมา หรือวูบวามไปมา เมื่อนำมาร้อยใส่ภาพนิ่งๆจะรู้สึกได้เลยว่าไม่เข้ากัน พลอยทำให้ดูไม่รู้เรื่องเข้าไปใหญ่ ไม่นิ่มนวลสมจริง บางครั้งรู้สึกว่าโดดไปโดดมา หากจะให้ตัดต่อได้สะดวกและภาพสมบูรณ์ การแพนจะต้องมีจุดเริ่ม คือเริ่มจากถือกล้องให้นิ่งเสียก่อน จากนั้นกดปุ่มบันทึกภาพแล้วค่อยแพน และจุดจบ คือนิ่งทิ้งท้ายตอนจบอีกเล็กน้อย เพื่อบอกคนดูให้เตรียมพร้อมและพักสายตาระหว่างชมภาพ
การบันทึกเป็นช็อต
ช็อตคือการเริ่มบันทึก เพื่อเริ่มเทปเดินและเริ่มบันทึกลงม้วนเทป จนกระทั่งกดปุ่ม Rec อีกครั้ง เพื่อเลิกการบันทึก แบบนี้เค้าเรียกว่า 1 ช็อต การถ่ายเป็นช็อคไม่ควรปล่อยให้ช็อตไม่ควรปล่อยให้ช็อตนั้นยืดยาวไปนัก คือไม่ควรเกิน 5 วินาทีต่อ 1 ช็อต
วิธีการบันทึกเป็นช็อต
การ ถ่ายเป็นช็อตนี้ จะต้องเลือกมุม เลือกระยะที่จะถ่ายก่อน เลือกว่าจะถ่ายแบบไหนที่จะได้องค์ประกอบครบถ้วน ยกกล้องขึ้นส่อง จัดองค์ประกอบ แล้วถือให้นิ่ง กดบันทึก นับ 1-2-3-4-5 แล้วกดหยุด ในระหว่างกดบันทึกห้ามสั่น ห้ามไหวเด็ดขาด วิธีการไม่ยากนัก โดยให้รอจังหวะ หลักการง่ายๆคือนิ่งๆเข้าไว้ และไม่จำเป็นต้องถ่ายทั้งหมดหรือถ่ายยืดยาว เลือกแค่เป็นช็อตสำคัญก็พอ
รูปแบบการบันทึกเป็นช็อต
Wide Shot (WS) “Extreme Long Shot” เป็นการถ่ายวิดีโอที่โชว์ภาพโดยรวม หรือเปิดให้เห็นทั้งวัตถุหลักที่อยู่ท่รามกลางบรรยากาศรอบข้าง
Long Shot (LS) เป็นการซูมเข้ามาเพื่อเก็บรายละเอียดของวัตถุหลักมากขึ้น แต่ยังคงเก็บภาพแวดล้อมรอบข้างไว้ด้วย เพื่อบอกเล่าเรื่องราว
Medium Shot ยังแบ่งเป็น Medium Long Shot,Medium Shot,
Medium Ciose-up Shot (MCU) เป็นการเก็บรายละเอียดเฉพาะส่วนบนหรือครึ่งบนขอวัตถุหรือเรียกว่า
การถ่ายภาพครึ่งตัวของภาพนั้นๆ
Close-up Shot (CU) เป็นการซูมให้เห็นเฉพาะวัตถุหลัก โดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เพื่อให้เห็นว่าต้องการระบุ รายละเอียดเฉพาะวัตถุเท่านั้น ถ้าเป็นการถ่ายวิดีโอบุคคลก็จะเก็บภาพตั้งแต่ไหล่ขึ้นไป
ข้อดีของการบันทึกเป็นช็อต
ช็อตมุมกว้าง คือ บอกให้รู้สถานที่ และให้ได้รู้ว่าเป็นงานอะไร สถานที่ที่ไหน หากว่าถ่ายเห็นป้ายของงงานเข้าไปด้วยยิ่งดี การถ่ายแบบนี้ดูเป็นเรื่องเป็นราว บอกเล่าเรื่องราวตามลำดับขั้น ว่ามีใครทำอะไรบ้างไม่ว่าจะเป็นงานพิธีหรือถ่ายกันเล่นๆ เพราะว่าภาพจะสลับมุมต่างๆมาให้ชมเป็นระยะทำให้ไม่น่าเบื่อ
ช็อตการแพน การ ยกกล้องขึ้นลงการซูม การเล่นมุมกล้องแบบต่างๆ หรือเล่นมุมกล้องเอียงก็ทำได้เช่นกัน แต่ว่าต้องเริ่มต้นด้วยหลักการถ่ายเป็นช็อตๆให้กระชับและไม่ยืดยาดจะทำให้คนดูไม่เบื่อ ที่มีแต่ภาพแข็งๆทื่อๆดูแล้วไม่มีชีวิตชีวา
เทคนิคการเคลื่อนที่กล้องโดยไม่ให้สั่นไหว
การไวด์” หรือ” Wide Shot” เป็นวิธีที่ช่วยอำพรางการสั่นไหวของกล้องได้ซึ่งแม้ว่ากล้องจะสั่น ภาพจะไหว แต่ก็ยังไม่เห็นความแตกต่างเพราะว่ามันมีภาพมุมกว้างที่หลอกตาอยู่ ถ้าหากต้องการที่จะเดินถือกล้องถ่ายแบบนี้ละก็ จะต้องเลือกระยะกล้องที่ไกลสุด โดยการดึงภาพด้วยการซูมออกมา เรียกว่าลองช็อต“(Long Shot) เป็นประคองกล้องเดินช้าๆแบบนุ่มนวล โดยไม่ต้องซุฒเข้าไปอีก ควรปล่อยให้เป็นภาพมุมกว้างเข้าไว้
การเดินก็สำคัญหากมัวแต่เดินจำพรวดทิ้งน้ำหนักตัวแบบเต็มที่แบบนี้ภาพที่ได้จะกระตุกเป็นจังหวะแน่ๆก็ขอแนะนำให้การเดินถ่ายกล้องนั้นต้องระวังทุกฝีเท้า การเดินด้วยปลายเท้า เกร็งและย่อขาเล็กน้อยจะช่วยให้กล้องนิ่งและมั่นคงขึ้น ช่วยให้เดินถ่ายวิดีโอได้อย่างมีคุณภาพ ภาพที่ได้จะนิ่งการถือกล้องแบบแบกบ่า บางครั้งอาจจะไม่ถนัดสำหรับเดินถ่ายเสมอไป สามารถแก้ไขด้วยการลดกล้องมาอยู่ในมือ ในอ้อมแขนนั้นจะเป็นการดี เพราะช่วยประคองกล้องได้อีกชั้นด้วยซ้ำไป แถมอาจจะได้มุมที่แปลกตาไปจากการแบกบนบ่า
การถ่ายให้กระชับ
การถ่ายให้กระชับ หมายความว่า การถ่ายวิดีโอที่พยายามให้ภาพนั้นสื่อความหมายในตัวเองมากที่สุด โดยสามารถเล่าเรื่องราวได้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร นี่จะช่วยให้เราไม่ต้องเก็บภาพมามากมายและยืดยาว ก็สามารถเข้าใจได้ว่าในเหตุการณ์นั้นๆเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ที่มา : https://krubeenan.wordpress.com

เทคนิคการถ่ายวิดีโอ


ความสำคัญของการบันทึกภาพเคลื่อไหว หรือวีดีโอ กล้องวีดีโอ มีความสำคัญ แต่เหนือสิ่งอื่นใด คนถ่ายก็คนบุคคลที่สำคัญที่สุด สิ่งที่ขาดไม่ได้ ในการบันทึกภาพวีดีโอ คือเจ้าขาตั้งกล้องวีดีโอ Tripod หากท่านถ่ายรูป ในวันที่แสงพอเพียง ท่านไม่จำเป็นต้องถ่ายบนขาตั้งก็ได้ แต่สำหรับงานวีดีโอแล้ว ขาตั้งนี่แหละ เป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญพอพอกับ ตัวกล้องวีดีโอทีเดียว เมื่อกล้องวีดีโอ อยู่บนขาตั้งเรียบร้อยแล้ว เรามาเรียนรู้เรื่อง การควบคุมกล้องกัน


      การควบคุมกล้องและการจัดภาพ
การกำหนดการเคลื่อนไหวที่เกิดจากการทำงานของกล้องถ่ายโทรทัศน์ นับได้ว่าเป็นการ เปลี่ยนแปลงตำแหน่งของกล้องไปพร้อมกับการบันทึกภาพ และจะมีผลทำให้ภาพเปลี่ยนแปลงลักษณะภาพ รูปแบบ และเนื้อหาของการนำเสนอภาพไปด้วย
เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น แพนซ้าย ก็แพนซ้าย แพนขวา ก็แพนขวา เราจะไม่ซูมภาพในขณะที่แพนซ้าย เด็ดขาด
การเคลื่อนไหวกล้องที่มีเหตุผล และมีความเชี่ยวชาญจะเป็นส่วนช่วยเสริมภาษาของภาพและผู้ชมเกิดบทบาท ร่วมที่เป็นจริงมากขึ้นกับการนำเสนอภาพในช่วงนั้นการเคลื่อนไหวกล้องมีหลักการขั้นพื้นฐานที่นำมาใช้ในการถ่ายภาพ 4 ประการ คือ
1. การแพน (Pan) เป็นวิธีการเคลื่อนที่กล้องถ่ายในลักษณะการส่ายกล้องเคลื่อนที่ไปในแนวนอนหรือแนวราบ (Horizontal) อาจเริ่มจากซ้ายไปขวา (Pan Right) หรือจากขวาไปซ้าย (Pan Left) ก็ได้ วัตถุประสงค์ของการแพนกล้องอาจเกิดขึ้นได้จากวัตถุประสงค์ของการนำเสนอหลายประการ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์หรือเกิดเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่ถ่ายสองสิ่งอยู่ห่างกัน หรือพื้นที่ของการถ่ายที่แยกอยู่ห่างกัน
2. การซูม (Zoom) สามารถสามารถเปลี่ยนขนาดภาพขณะกำลังบันทึกภาพโดยไม่ต้องเคลื่อนไหวกล้องหรือเปลี่ยนตำแหน่งการตั้งกล้อง ลักษณะการเปลี่ยนขนาดภาพถ้าเปลี่ยนจากภาพขนาดมุมกว้างมาเป็นมุมแคบจะเรียกว่า Zoom in ถ้าตรงข้ามกันจะเรียกว่า Zoom out ผลที่เกิดในความรู้สึกของผู้ชม คือ จะรู้สึกว่าสิ่งที่ถ่ายถูกดึงเข้ามาใกล้ตัวหรือถอยห่างออกไป เกิดกาเคลื่อนไหวขึ้นในภาพ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงขนาดของภาพอย่างต่อเนื่อง


3. การทิลท์ (Tilting) เป็นการเคลื่อนไหวกล้องอีกลักษณะหนึ่ง เช่นเดียวกันกับการแพนแต่เป็นการแพนโดยวิธีการเคลื่อนกล้องในแนวดิ่ง วิธีการถ่ายภาพในแบบการทิลท์กล้องถ่ายยังคงรักษาระดับตำแหน่งความสูง ต่ำ คงที่จะเปลี่ยนแปลงไปก็แต่เพียงมุมการบันทึกภาพเท่านั้น ที่ถูกขยับไปในองศาที่สูงขึ้นกว่าเดิม หรือองศาถูกกดต่ำกว่าเดิม ซึ่งกระทำได้โดยการกระดกกล้องถ่ายภาพขึ้นหรือค่อย ๆ กดกล้องให้มุมรับภาพลงต่ำในระหว่างการถ่ายทำถ้าหากในขณะที่ทำการถ่ายภาพผู้ถ่ายกระดกกล้องถ่ายภาพให้สูงขึ้นกว่าระดับเดิมจะโดยเหตุผลของการนำเสนอภาพเพื่อผลในการใดก็ตามดังที่กล่าวมาแล้วเรียกกันว่า ทิลท์-อัพ (Tilt-up) และในทางกลับกัน ถ้าหากกดกล้องให้มุมรับภาพค่อย ๆ เปลี่ยนในทิศทางที่ต่ำลงกว่าเดิมเรียกว่า ทิลท์-ดาวน์ (Tilt Down)
4. การดอลลี่ (Dollying) เป็นวิธีการเคลื่อนไหวกล้องในรูปแบบการตั้งอยู่บนพาหนะที่มีล้อซึ่งเคลื่อนไปมาบนพื้น หรือเลื่อนไปตามราง ทำให้สามารถเคลื่อนที่ตามภาพเหตุการณ์ได้ในมุมมองต่าง ๆ กัน เหมาะสำหรับการบันทึกภาพอย่างต่อเนื่องเป็นช๊อตยาวดอลลี่จะมีลักษณะการเคลื่อนกล้องเข้าหาสิ่งที่ถ่าย เรียกว่า ดอลลี่อิน(Dolly in) และถ้าเคลื่อนกล้องถอยห่างจากสิ่งที่ถ่าย เรียกว่า Dolly out


5. การแทคกล้อง (Trucking or Tracking) เป็นการเคลื่อนไหวของกล้องในลักษณะและวิธีการเคลื่อนไหวในรูปแบบคล้ายกับดอลลี่ แตกต่างกันในเรื่องของการกำหนดทิศทางเท่านั้น ทิศทางของการทรักต์ จะใช้การเคลื่อนกล้องในแนวทางข้างเคียงสิ่งที่ถ่าย ในบางกรณี การเคลื่อนที่ของกล้องอาจไม่เป็นแนวตรงแต่จะเคลื่อนในลักษณะเฉียงโค้ง (Curve Track) ในบางครั้งการนำเสนอภาพในรูปแบบการทรักต์จะใช้การเคลื่อนที่ตามขนานกับสิ่งที่ถ่ายอาจเป็นระดับการเคลื่อนไหวที่คู่เคียงกันไป หรือตำแหน่งของกล้องล้ำหน้า วัตถุเคลื่อนทีตามนอกจากนี้แล้วยังนำมาใช้เพื่อการเปลี่ยนตำแหน่ง และทิศทางของกล้องเพื่อกำหนดรูปแบบของการนำเสนอภาพในแนวทางใหม่ เป็นการหลีกเลี่ยงความซ้ำซากน่าเบื่อหน่ายของสิ่งที่ถ่าย

ที่มา : http://www.xn--l3cd0bu5a0axb1j5b.net/?p=698


ความหมายสารคดี


การนำเสนอข้อมูลโดยใช้วิดีโอ
      ใช้งานวีดีโอมาช่วยในการสร้างสื่อ การสอน นำเสนอรายงาน วิทยานิพนธ์ และงานวิจัยต่างๆ เปลี่ยนวิธีนำเสนอรายงานจากการใช้เพียงภาพประกอบ แผ่นชาร์ต หรือแผ่นใส มานำเสนอในรูปแบบของวีดีโอก็จะทำให้ผู้ฟังบรรยายได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น และเกิดความเข้าได้ง่าย น่าสนใจกว่าการนำเสนอที่มีแต่ข้อมูลและภาพนิ่งเพียงอย่างเดียว

        แนวคิดในการสร้างงานวีดีโอ
ก่อนที่เราจะลงมือสร้างผลงานวีดีโอสักเรื่องหนึ่งสิ่ง ที่ไม่ควรทำก็คือการลงมือไปถ่ายวีดีโอแล้วนำมาตัดต่อเลยโดยไม่ได้คิดให้ดีก่อนว่าจะถ่ายทำอย่างไรบ้างเพราะปัญหาที่มักเกิดขึ้นเสมอก็คือ การไม่ได้ภาพตามที่ต้องการ เนื้อหาที่ถ่ายมาไม่สอดคล้องกับหัวข้อที่เราสนใจและต้องการนำเสนอ  


สารคดี (Non-Fiction) เป็นงานเขียนหรือวรรณกรรมร้อยแก้วในลักษณะตรงข้ามกับกับบันเทิงคดี(Fiction) ที่มุ่งให้ให้สาระความรู้แก่ผู้อ่านเป็นเบื้องต้น มีความเพลิดเพลินเป็นเบื้องหลัง ที่มุ่งแสดงความรู้ ความคิด ความจริง ความกระจ่างแจ้ง และเหตุผลเป็นสำคัญ อาจจะเขียนเชิงอธิบาย เชิงวิจารณ์เชิงแนะนำสั่งสอน เป็นต้น
            ลักษณะ
ถึงแม้ว่างานเขียนสารคดีจะมุ่งให้ความรู้ ข้อเท็จจริง หรือความคิดเห็นแก่ผู้อ่านเป็นสำคัญ แต่ก็ยากที่จะตัดสินว่างานเขียนชิ้นไหนไม่ใช่สารคดี
-   การเสนอข้อมูลหรือเนื้อหาสาระเป็นข้อเท็จจริง โดยเน้นเนื้อหาสาระ เรื่องราว เหตุการณ์ ตัวบุคคล หรือสถานที่ต้องเป็นข้อเท็จจริง (fact) และยังเป็นการเสนอข้อมูลที่ผู้เขียนได้ศึกษา สังเกต สำรวจ หรือวิเคราะห์ตีความเป็นอย่างดีแล้ว
-   มีจุดประสงค์ให้ผู้อ่านได้รับความรู้และความเพลิดเพลินในการอ่าน เป็นสองส่วนที่แยกกันไม่ได้
-   การเขียนสารคดีอาจใช้จินตนาการประกอบได้ (อาจมีหรือไม่มีก็ได้) เป็นการสร้างภาพตามความนึกคิดที่เกิดจาอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียน เป็นการสร้างภาพที่เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ สังเกต พิจารณา จากข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง
-   สารคดีต้องเป็นงานเขียนที่สร้างสรรค์ เป็นการนำเสนอความคิดเห็นและทัศนะที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านโดยทั่ว ๆ ไป มิใช่สร้างสรรค์ให้แก่บุคคลใดโดยเฉพาะ

ที่มา : http://sompongsuchai.blogspot.com/2012/09/9.html
          https://th.wikipedia.org

แนวทางในการทำสารคดีสำหรับผู้เริ่มต้น

หลักการผลิตสารคดี มีหลักเดียวเท่านั้น คือ " ทำอย่างไรที่จะให้คนดูงานสารคดีเรื่องที่เราผลิต ตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่ลุกหนีไปไหน หรือกดเปลี่ยนช่อง "
ซึ่งการถ่านสารคดีนั้นมีภาพนำเสนออยู่ 6 ภาพ ด้วยกันคือ ชนิดของภาพแบบที่....

   1. ภาพตัวพิธีกร หรือผู้ดำเนินรายการ จะเดี่ยวคู่ เป็นดารา อาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ จะเป็นใครก็ได้คอยถามสิ่งที่คิดว่าคนทั่วไปอยากรู้ คอยเปิดประเด็นเพิ่ม คอยสรุปและดึงเนื้อหาในเรื่องออกมาให้คนดูรู้เรื่องให้ได้ (ไม่ให้หลุดคอนเซ็ป)  พูดง่ายๆก็คือ ทำหน้าที่แทนคนดูทางบ้าน (ตัวพิธีกรก็คือตัวแทนของกลุ่มคนดู เช่น รายการวัยรุ่นพิธีกรก็ต้องวัยรุ่นด้วย)
   2.  ภาพผู้ถูกสัมภาษณ์ หรือผู้เล่าเรื่องราว มีหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวที่จะนำเสนอให้คนที่ไม่รู้ได้รู้จริง (ให้ได้รับข้อมูลถูกต้อง) และให้คนที่ไม่เข้าใจได้เข้าใจ (ไม่สับสน) ด้วยบางครั้งผู้เล่ามีความรู้มากมาย จึงเล่าสับสนจับต้นชนปลายไม่ถูก พิธีกรจะต้องคอยตะล่อมให้เข้าสู่เนื้อหาที่ตรงประเด็น หรือ ถ้าผู้เล่าอธิบายไม่ละเอียด ข้ามไปมา พิธีกรก็จะต้องคอยสรุปถามให้แน่ชัดว่า สิ่งที่เราเข้าใจคือสิ่งที่ผู้เล่ากำลังพูดถึงใช่หรือไม่...
   3. ภาพตัวพิธีกรและภาพผู้เล่าเรื่องราว ทั้ง 2 คนอยู่ในภาพเดียวกัน ( ต่างกันกับแบบ 1 ที่มีพิธีกรคนเดียวและแบบ 2 มีตัวผู้เล่าเรื่องราวคนเดียว )
   4.  ภาพในเนื้อหาแต่ใช้เสียงคนประกอบ  เสียงที่ใช้อาจเป็นเสียงพิธีกร หรือเสียงผู้เล่าเรื่องราว ถ้าบางครั้งผู้เล่าเรื่องราวมีเวลาให้เราน้อย  เราสามารถเปลี่ยนเสียงเป็นคนบรรยายอื่นก็ได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย  เช่น ผู้เล่าเรื่องราวเป็นชาย ช่วงอธิบายอาจเป็นเสียงผู้หญิง...
   5. ภาพในเนื้อหาแต่ใช้เสียงเพลงประกอบไปกับภาพ ภาพสนุกตื่นเต้นก็ใช้เพลงตื่นเต้น เพลงประกอบ จะช่วยเสริมให้เนื้อเรื่องในสารคดีน่าสนใจมากขึ้น  (จริงๆ แล้ว ภาพ 4 - ภาพ 5 ก็คือภาพเดียวกัน แต่แบ่งแยกออกมาเพื่อให้ได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น)        
   6.  นำภาพทั้งหมด ตั้งแต่ภาพแบบที่ 1-ภาพแบบที่ 5 นำมารวมกันอยู่ในเฟรมเดียวกัน เช่น ภาพตัวพิธีกรกับภาพเหตุการณ์ที่คนกำลังทำงานอยู่ในเฟรมเดียวกันหรือภาพผู้เล่ากับภาพเหตุการณ์อยู่ในเฟรมเดียวกัน อาจแบ่งภาพเป็น 2 - 3 - 4  ช่องในเฟรมเดียวกัน ก็ได้ 
ภาพในการทำสารคดีมีอยู่ 6 แบบเท่านั้น หน้าที่ของคนทำคือ ผสม 6 ภาพนี้ให้เข้ากันอย่างลงตัวและน่าสนใจ  เช่น
   พิธีกรคนเดียว - แนะนำผู้เล่าเห็นหน้าท้ง 2 คน - เห็นหน้าผู้เล่าคนเดียว - ใช้ภาพผสมเสียงผู้เล่า - หน้าผู้เล่า - ภาพมีเสียงเพลง - ภาพพิธีกรและผู้เล่า ฯลฯ ไม่ใช่ให้พิธีกรพูดมากเกินกว่าผู้เล่า , หรือให้ผู้เล่าอธิบายจนน่าเบื่อ , หรือใส่ภาพผสมเสียงพูดนานจนลืมพิธีกร ฯลฯ

      ...ท่องจำไว้ให้ขึ้นใจว่า " ......ไม่ว่าคุณจะผลิตงานสารคดีให้ออกมาดีแค่ไหน , ลงทุนมากแค่ไหน , หรืองานดีเลิศประเสริฐศรีสุดปฐพี เท่าที่มีคนทำมา
.......ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าคนไม่ดู ( เบื่อแล้วกดช่องหนี ) ...สู้อยู่เฉยๆ ไม่ทำเลยจะดีกว่า ".....  ยกเว้น  สารคดีที่จ้างผลิตโดยเฉพาะ ไม่เข้าข่ายคำพูดนี้...
       เช่น สารคดีเชิงวิชาการ , สารคดีที่ต้องใช้ข้อมูลจริง , สารคดีการสอน ฯลฯ เหล่านี้แม้จะเบื่อน่าหลับแค่ไหน ก็ต้องทนดู เพราะถ้าเราเสริมเทคนิคใดๆ
       มากเกินความจำเป็น อาจทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือ เกิดความเข้าใจผิดในเนื้อหาได้....

** เคล็ดลับที่เสริมงานสารคดีให้คนดูน่าติดตาม **
      -  อย่าใส่เพลงประกอบในขณะสัมภาษณ์ผู้เล่าเรื่อง เพราะจะทำให้เนื้อเรื่องที่ผู้เล่าอยู่ขาดความน่าเชื่อถือ และอีกอย่างเสียงสัมภาษณ์นอกสถานที่ก็ฟังไม่รู้เรื่อง
        อยู่แล้ว ใส่เพลงเข้าไปอีกก็ยิ่งพาลทำให้งานเละไปกันใหญ่ ( ใส่เพลงควรใช้แบบ 5 เท่านั้น ) แต่ถ้าจำเป็นต้องใส่ ไม่ควรให้เพลงไปกลบเสียงผู้สัมภาษณ์
      -  ใช้เอฟเฟคในการตัดต่อเพิ่มความน่าสนใจ เช่น ฟาสสปีด หรือสโลว์ภาพ ถอยไปมา กัดสี ตัดเร็วเข้าจังหวะเพลง
      -  ใช้บทเป็นตัวนำ เหมือนสารคดีพี่โจ๋ยบางจาก ที่เล่นคำกับบท ช่วงนั้นใครๆก็ติดกันงอมแงม แต่มา ณ วันนี้ คนกลับชอบรายการ " คนค้นฅน"  ที่นำเสนอแบบไม่ต้องมาเสียเวลากับพร่ำพรรณาบท ชีวิตเป็นอย่างไรก็นำเสนอแบบนั้น ให้คนดูติดตามและคิดกันเอง
      -  ใช้เพลงผสมเหมือนสารคดีเพลง ค่ายเพลงต่างๆชอบใช้ ให้ดาราพาเที่ยวทำนองนี้     

      - ทำเป็นละครผสมสารคดี ชีวิตจริง ข้อดีคนดูชอบ ข้อเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม อาจเกินงบที่มี
      -  ใช้ความตลกเข้าผสม ต่อมุขเสริมมุข ระหว่างพิธีกรกับผู้เล่าเรื่อง เอาฮาเป็นหลัก เนื้อหาเป็นรอง สนุกจนคนลืมเปลี่ยนช่อง ( รายการวัยรุ่น )
      -  ใช้พิธีกรเข้าร่วมทำกิจกรรม หรือทำเป็นเกมส์แข่งกับผู้เล่นที่รับเชิญ สำหรับรายการที่มีเวลามาก ก็จะทำกิจกรรมเสริมแทนผู้ชมทางบ้าน
      -   กำลังฮิต สารคดีแบบถามตอบ ตั้งแต่รู้สู้ฟลัดทำปลาวาฬออกมาดังจนหลายบริษัทค้อนควับๆ คือ รูปแบบถามเองตอบเอง ทำไมน้ำถึงท่วมและเราจะมีวิธีการสู้กับน้ำอย่างไร เริ่มต้นวิธีนี้ฯลฯ กระชับมีแต่เนื้อหาล้วนๆ


ที่มา : http://p0p-it.blogspot.com/2012/08/blog-post_3990.html

ประเภทของสารคดี

ประเภทของสารคดี
-                   ความเรียง (Essay) เป็นการเขียนสารคดีที่เน้นเรื่องการแสดงความคิดเห็น ซึ่งได้จากประสบการณ์ การค้นคว้าหรือความคิดของผู้เขียน
·       ความเรียงแสดงข้อคิด (Opinion Oriented Essay) ความเรียงที่ผู้เขียนมุ่งแสดงข้อคิดเป็นหลัก ข้อคิดอันเป็นปรัชญาของชีวิต เป็นแนวทางสร้างสรรค์หรือพัฒนาตนเองและสังคมให้ดีขึ้น ในรูปแบบการนำเสนอแบบ บอกเล่า แนะนำ สั่งสอน หรือใช้วิธีประมวลแนวคิดต่าง ๆ เสนอแก่ผู้อ่าน ตัวอย่างเช่น ในท่ามกลางอารยธรรมผุกร่อน ของ พจนา จันทรสันติ โลกทั้งผองที่น้องกัน ของมหาตมะ คานธีแปลโดย กรุณา และเรืองอุไร กุศลาสัย พ่อแม่สมบูรณ์แบบ ของ พุทธทาสภิกขุ มุมที่ไม่มีเหลี่ยมของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นต้น
·       ความเรียงเบาสมอง (Light Essay) เป็นความเรียงที่ผู้เขียนมุ่งให้ผู้อ่านได้รับสาระ และความสนุกสนานไปด้วยกัน คล้ายบันเทิงคดี เพียงแต่เนื้อหาสาระเป็นเรื่องจริง เช่น ลูกเล่นลูกฮา ของ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ อารมณ์ขันของคึกฤทธิ์ ของ วิลาศ มณีวัต สาวเอยจะบอกให้ ของ นเรศ นโรปกรณ์ เป็นต้น

-                   บทความ (Article) เน้นข้อเท็จจริงโดยใช้หลักฐานอ้างอิงประกอบในลักษณะวิเคราะห์ปัญหาขัดแย้งต่าง ๆ หรือในการเสนอความเห็นทัศนคติของผู้เขียนต่อเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นหรือต่อเหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคม นิยมใช้ภาษาที่กระชับ ทางการ สวยงาม เรียบง่าย ชัดเจน
·       บทความบรรยาย เขียนขึ้นเพื่อเล่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้ประสบมา ภาษาเรียบง่าย
·       บทความแสดงความคิดเห็น เสนอความคิดในเชิงโต้แย้งหรือสนับสนุน แต่ควรเป็นความคิดที่แปลกใหม่
·       บทความวิเคราะห์ เขียนเพื่อวิเคราะห์เรื่องราว หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ภาษาที่ใช้ควรเป็นภาษาที่ชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย เน้นย้ำประเด็นสำคัญของเรื่อง
·       บทความวิจารณ์ เป็นบทความที่คล้ายคลึงกับบทความประเภทแสดงความคิดเห็น แต่จะเป็นเชิงวิจารณ์ ซึ่งผู้เขียนต้องมีความรู้ มีเหตุผลและมีหลักวิชา เพื่อสนับสนุนข้อวิจารณ์นั้น ๆ
·       บทความสารคดี สารคดีเป็นชื่อเรียกบทความที่มีเนื้อหาสาระน่าสนใจเป็นพิเศษ ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน โดยเน้นที่ความรู้เป็นสำคัญ ส่วนความเพลิดเพลินเป็นผลจากกลวิธีการเขียน ส่วนมากจึงกลายเป็นหนังสือสารคดี สารคดีมีหลายประเภท เช่น สารคดีชีวประวัติ สารคดีท่องเที่ยว สารคดีบันทึก (จดหมายเหตุ อนุทิน) เป็นต้น
·       บทความวิชาการ เป็นบทความที่ผู้เขียนมุ่งแสดง หรือถ่ายทอดความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยตรงแก่ผู้อ่าน ในแขนงสาขาความรู้ต่างๆ และควรมีเชิงอรรถ บรรณานุกรม หรือหนังสืออ้างอิงท้ายเรื่อง ภาษาที่ใช้เป็นภาษาที่เป็นแบบแผน คือ ถูกต้อง กระชับ ชัดเจน เข้าใจง่าย อาจมีรูปภาพ ตาราง กราฟ หรือแผนภูมิประกอบเพื่อช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบ รายงานทางวิชาการ เป็นรายงานผลการวิจัย หรืออาจเป็นบทความที่พิมพ์ในวารสาร เป็นต้น

-                   สารคดีท่องเที่ยว (Travelogue) คือ วรรณกรรมร้อยแก้วที่ผู้เขียนบันทึกเรื่องราวที่ได้ประสบในการท่องเที่ยว โดยให้ความรู้ทางด้าน สภาพท้องถิ่น สภาพของคน ความเป็นอยู่ของคน ความรู้ทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณสถานประเพณี วัฒนธรรม การทำมาหากิน หรือที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น
·       แบบเล่าไปเรื่อย ๆ มักเล่าเหตุการณ์เป็นลำดับ เช่น ไกลบ้าน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉากญี่ปุ่น และ ถกเขมร ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช สวรรค์เวียนนา ของ เรือใบ ร่อนไปไต้หวัน ของลมูล อติพยัคฆ์ เป็นต้น
·       แบบเล่าเป็นเชิงเปรียบเทียบ แสดงข้อเปรียบเทียบข้อดี ข้อด้อยสถานที่ไปพบ เช่น จดหมายถึงเพื่อน ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ปลัดเปล่งเที่ยวรอบโลก ของ เปล่ง วิเทียมลักษณ์ เป็นต้น

-                   สารคดีชีวประวัติ (Biography) เป็นงานเขียนที่กล่าวถึงเรื่องราว และพฤติกรรมของบุคคลจริง จะเขียนเน้นด้านบุคลิกภาพ ความรู้ และความคิดเห็นในด้านต่าง ๆ ตลอดจนผลงานที่น่าสนใจเพื่อนำประวัติชีวิตนั้นมาศึกษาแง่มุมต่าง ๆ หาเป็นงานเขียนที่ผู้อื่นเขียนเรียกว่า ชีวประวัติ แต่หากผู้เขียนเขียนเรื่องราวชีวิตตอนเองเรียกว่าอัตชีวประวัติ
·       ชีวประวัติแบบจำลองลักษณ์ (Portrait) เป็นการเขียนแบบถ่ายภาพให้เหมือนตัวจริงของเจ้าของชีวประวัติ การเขียนจึงเน้นการอธิบายรูปร่าง ความคิด รสนิยม และอุปนิสัยอย่างตรงไป ตรงมา โดยการใช้ภาษาที่สละสลวยเป็นพิเศษ
·       ชีวประวัติแบบสดุดี หรือชื่นชม (Appreciation) มุ่งเน้นการเขียนชีวประวัติ บุคคลเพื่อสรรเสริญ จึงเน้นด้านความสำเร็จ
·       ชีวประวัติแบบรอบวง (Profile) เป็นการเขียนโดยมุ่งให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของชีวประวัติเพียงด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ
·       อัตชีวประวัติ (Autobiography) เป็นการเขียนเล่าประวัติชีวิตของตนเอง อาจเล่าเรื่องชีวิตของตนโดยตรง หรือเล่าในเชิงบันทึกเหตุการณ์แล้วแทรกประวัติตนเองลงไปด้วย

-                   อนุทิน (Diary) เป็นการบันทึกความจำ ประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิต เช่น บันทึกรายวัน ของ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และบันทึกลับของอันเนอ ฟรังค์ (The Diary of a Young Gril by Anne Frank) เป็นต้น

-                   จดหมาย (Letter) เป็นจดหมายที่เขียนโต้ตอบกันระหว่างคน 2 คน หรือฝ่ายใดเขียนขึ้นฝ่ายเดียวก็ได้ เช่น ไกลบ้าน ซึ่งเป็นพระราชหัตถเลขา ที่พระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเขียนถึงเจ้าฟ้าหญิงนิภานพดลฝ่ายเดียว พ่อสอนลูก ของนายทวี บุณยเกตุ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเขียนถึงลูกในขณะลี้ภัยการเมืองอยู่ในปีนัง ส่วน สาส์นสมเด็จเป็นจดหมายโต้ตอบ ระหว่างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาริศรานุวัติวงศ์ และ บันทึกความรู้ เป็นจดหมายโต้ตอบระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ กับ พระยาอนุมานราชธน เป็นต้น

-                   บันทึกและความทรงจำ (Memoire and Memory) บันทึก คือ เรื่องราวหรือเหตุการณ์ ที่บุคคลบันทึกระหว่างปฏิบัติงานสำคัญเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก เช่น บันทึกของทูตไทยของนายบุญชนะ อัตถากร บันทึกไว้ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการ (ชื่อกระทรางสมัยนั้น) และ เหตุเกิดในกรุงรัตนโกสินทร์ ของ วสิษฐ เดชกุญชร เป็นต้น ส่วน ความทรงจำ คือเรื่องราวในอดีตที่ผู้แต่งพยายามเขียนเล่าด้วยการนึกทบทวนประสบการณ์ของตนเองเช่น ความทรงจำ ของสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ และ ฟื้นความหลัง ของ เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) เป็นต้น

-                   จดหมายเหตุ (Archives) เป็นบันทึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ส่วนมากเป็นเรื่องราวของทางราชการ หรือกึ่งราชการ เช่นจดหมายเหตุของลาลูแบร์ (เมื่อ พ.ศ. 2230) จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. 116 ของ พระยาศรีสหเทพ (เส็ง) และ จดหมายเหตุความทรงจำ ของกรมหลวงนรินทรเทวี เป็นต้น

-                   คติธรรม (Moral Precept) เป็นงานเขียนที่มุ่งสอนจริยธรรม หรือศีลธรรม โดยเรียบเรียงเรื่องธรรมะให้เข้าใจง่ายขึ้น เช่น สนิมในใจ ของ พ.อ. ปิ่น มุทุกันต์ ธรรมกับไทย : ในสถานการณ์ปัจจุบัน ของ พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตโต) ตามรอบพระอรหันต์ ของ พุทธทาสภิกขุ และ เสียงศีลธรรม ของ แปลก สนธิรักษ์ เป็นต้น

-                   บทสัมภาษณ์ (Interview) เป็นงานเขียนที่เกิดจากการสัมภาษณ์บุคคล และมีเนื้อเรื่องเป็นสาระประโยชน์

        ที่มา : https://th.wikipedia.org

การใช้โปรแกรม Windows Movie Maker

การใช้งานเบื้องต้น
เปิดโปรแกรม Movie Maker แล้วกด “เพิ่มวิดีโอหรือรูปถ่าย“  มันจะมีหน้าต่างเลือก File ขึ้นมา ถ้ามีเพลง / ชื่อเรื่อง / คำอธิบายภาพอื่นๆ ก็ใส่ลงไปแล้วก็ตัดต่อได้เลยครับ Video / รูป / เพลงจะโผล่บน Timeline ด้านขวา


บน Movie Maker จะมีแถบหลักแค่ 6 แถบ
1. แฟ้ม [File]
งานที่เราตัดต่อไปทั้งหมดเรียกว่าโครงการ [Project] แถบแฟ้มจะเอาไว้จัดการ Project ไม่ว่าจะเป็นการบันทึก [Save] Project ที่ยังไม่เสร็จ แล้วค่อยเปิดมาทำต่อวันหลัง หรือการตั้งค่า Program
2. หน้าแรก [Home]
จะรวบรวมเครื่องมือตัดต่อที่ใช้บ่อยๆ เอาไว้
3. ภาพเคลื่อนไหว [Animations]
เอาไว้เลือกการเปลี่ยนภาพจาก Video นึงไปอีกอันนึง
4. Visual Effect
จะมี Effect ต่างๆ ให้เราเลือกใช้กับ Video คล้ายๆ กับ Filter ของ Instagram และยังปรับความสว่างได้ด้วย
5. โครงการ [Project]
เอาไว้จัดการเสียงและภาพว่าจะเน้นเสียงเพลง / เสียงจาก Video / เสียงพูดบรรยายให้อันไหนดังอันไหนเบา และจะเอาอัตราส่วนแบบไหน จอกว้าง [16:9] เหมือน TV จอแบนหรือขนาดมาตรฐานเหลี่ยมๆ [4:3] เหมือน TV ตู้
6. ดู [View]
จะมีให้เลือกขนาดของ Timeline / การแสดงคลื่นเสียง แต่ตรงนี้จะไม่มีผลกับ Video เป็นแค่การตั้งค่าให้เราตัดต่อ Video ได้ง่ายขึ้น


      การตัดต่อ Video ก็เหมือนการตัดกระดาษ ลากตัวบ่งชี้การเล่นสีดำ [เส้นสีดำๆ] ไปวางที่ต้องการตัด ตัด Video ก็ไปที่แถบ “เครื่องมือวีดีโอ” [Video Tools] แล้วกด “แยก” [Split] เหมือนตัดกระดาษฉับๆ ส่วนตัดเพลงก็ไปที่แถบ “เครื่องมือเพลง” [Music Tools] แล้วกดแยกเหมือนเดิม กดค้างที่ Video / เพลง / ข้อความบน Timeline แล้วเลื่อนไปมาเพื่อเปลี่ยนจุดเริ่มต้น / สิ้นสุด นอกนั้นก็ลองๆ เล่นดู มันจะมีการปรับเสียง / เลือก Theme และอื่นๆ  เมื่อเสร็จแล้วก็กดดูตัวอย่างที่ด้านซ้าย พอใจก็ไปที่หน้าหลักแล้วกด “บันทึกภาพยนตร์” 


วิดีโอสอนเพิ่มเติม : การใช้โปรแกรม Windows Live Movie Maker
ที่มา : https://phantipdiary.wordpress.com/2013/06/23/movie-maker/